‘สึนามิประชากรสูงวัย’ กับความเข้าใจรับมือ โรคฮิตในผู้สูงอายุ (จบ)

29 ส.ค. 2567 | 07:20 น.
อัพเดตล่าสุด :29 ส.ค. 2567 | 07:22 น.

‘สึนามิประชากรสูงวัย’ กับความเข้าใจรับมือ โรคฮิตในผู้สูงอายุ (จบ) : Healthcare Insight

5. โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease หรือ COPD)

เป็นการอักเสบปอดที่เรื้อรังเป็นเวลานาน เนื่องจากได้รับสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองเป็นเวลานาน เช่น สูบบุหรี่หรือได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่มาเป็นเวลานาน ในรายที่มีอาการรุนแรงมักเกิดอาการ น้ำหนักตัวลดลงผิดปกติ ไอเป็นเลือด ทำได้เพียงการรักษาแบบประคับประคองอาการไม่ให้รุนแรงมากมากกว่าเดิม หรือการการผ่าตัดในบางกรณีเนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงสูงมาก

‘สึนามิประชากรสูงวัย’ กับความเข้าใจรับมือ โรคฮิตในผู้สูงอายุ (จบ)

6. โรคมะเร็งเต้านม (Breast cancer)

เป็นโรคที่เกิดได้ในผู้หญิง แต่ความจริงแล้วโรคมะเร็งเต้านมสามารถตรวจพบได้ในเพศชายเช่นเดียวกัน เกิดจากต่อมน้ำนมและท่อน้ำนมเติบโตผิดปกติ มักมีอาการผิวลอกเป็นขุยบริเวณลานนม คลำพบก้อนในเต้านม ดังนั้นจึงควรเข้ารับการตรวจคัดกรองเป็นประจำทุกปีอย่างสม่ำเสมอ ส่วนการเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อในผู้สูงอายุในประเทศไทย

นอกจากโรคที่หลายคนพอจะรู้จักกันบ้างแล้ว ยังมีการเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อในผู้สูงอายุในประเทศไทย ด้วยโรคที่หลายคนมองข้ามการดูแลตนเอง ทำให้คร่าชีวิตคนที่เรารักไปมากมาย ดังนี้

1. โรคหลอดหัวใจ และหลอดเลือด (Cardiovascular diseases) มีผู้เสียชีวิตจำนวน 37,882 คนต่อปี

2. โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) มีผู้เสียชีวิตจำนวน 40,684 คนต่อปี

3. โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) มีผู้เสียชีวิตจำนวน 19,845 คนต่อปี

4. โรคเบาหวาน (Diabetes) มีผู้เสียชีวิตจำนวน 81,799 คนต่อปี

5. โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) มีผู้เสียชีวิตจำนวน 159,594 คนต่อปี

ปัจจุบันนวัตกรรมทางการแพทย์มีความก้าวหน้าทั้งในด้านการตรวจวินิจฉัยและการรักษา แต่ปัจจัยในการลดความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโรคภัยไข้เจ็บโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ยังมีปัจจัยเรื่อง พฤติกรรมการใช้ชีวิต ความเพียงพอของบุคลากรทางการแพทย์ การเข้าถึงบริการสาธารณสุข ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคม หรือแม้แต่ เศรษฐานะ ของแต่ละบุคคลด้วย

แต่หนึ่งในแนวทางที่จะช่วยลดความเสี่ยงความรุนแรงของโรค ก็คือการให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ซึ่งการตรวจคัดกรองเบื้องต้นด้านสุขภาพนั้น เป็นสิทธิ์พื้นฐานของประชาชนคนไทยทุกคนอยู่แล้ว หากมีกำลังทรัพย์ก็สามารถเลือกใช้บริการตรวจวินิจฉัยทั้งที่แล็บหรือสถานพยาบาลเอกชนก็ได้

เพราะเป็นการตรวจเช็คสุขภาพตามช่วงวัย เป็นการคัดกรองค้นหาโรคที่อาจแผงอยู่ในร่างกายที่ไม่แสดงออกมา และเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงที่มาจากพฤติกรรมส่วนตัวและอื่น ๆ อีกมากมายอย่างไม่คาดคิด

ประกอบกับร่างกายที่ถูกใช้งานสะสมมาเป็นเวลานาน เช่น การรับประทานอาหารที่โซเดียมสูง การรับประทานอาหารแปรรูปมากจนเกินไป จนก่อให้เกิดโรค เมื่อตรวจพบอาการผิดปกติได้ไว ก็จะสามารถรักษาได้ทันท่วงที ป้องกันโรคต่างๆ ที่อาจรุมเร้าเข้ามาได้ และเพื่อลดความรุนแรงของโรค ภาวะแทรกซ้อนที่อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตทั้งผู้สูงอายุและคนรอบข้างเช่นกัน เนื่องจากอาจก่อให้เกิดภาวะติดเตียง ภาวะไตวายเรื้อรัง ความพิการ อัมพาต อัมพฤกษ์

ดังนั้นเพื่อความสุขของคนที่คุณรักจึงหันมาใส่ใจสุขภาพตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งไม่ได้ส่งผลดีเฉพาะผู้สูงอายุอย่างเดียว แต่ยังส่งผลต่อภาพรวมงบประมาณสาธารณสุขของประเทศ และหวังอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะเป็นแนวทางในการดูแลตัวเองและคนรอบข้างให้ใครหลาย ๆ คน การใช้ชีวิตที่ดีอย่างเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข และยังนำไปสู่สังคมไทยที่เต็มไปด้วยสุขภาวะที่ดีอีกด้วย

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,022 วันที่ 29 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2567